Block News

บทวิเคราะห์: ธปท.เตรียมจัดตั้ง “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank เกี่ยวกับประโยชน์ และผลกระทบที่น่าจับตามอง

  • บทวิเคราะห์: ธปท.เตรียมจัดตั้ง “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank เกี่ยวกับประโยชน์ และผลกระทบที่น่าจับตามอง

ในช่วงนี้หลายคนอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการอนุญาติให้จัดตั้ง Virtual Bank ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. วันนี้เราจะมาวิเคราะห์กันว่า Virtual Bank คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นหลังจาก Virtual Bank เปิดให้บริการ

นาย ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ที่เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวว่า ​ตามที่ ธปท. ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 โดยมีหนึ่งในแผนดังกล่าวที่จะทำคือการเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ 

  • โดยเป้าหมายของ Virtual Bank ที่ ธปท. ต้องการคือ

เป้าหมายของ ธปท. ในการเปิดให้มี Virtual Bank จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น และสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น

1.บริหารทางการเงินแบบครบวงจรเหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อย และ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการด้านการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม

2.ลูกค้าได้ประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดี ใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และตอบโจทย์ความต้องการ

3.ทำให้สถาบันทางการเงินแข่งขันกันมากขึ้น เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่เหมาะสม

สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

1.การประกอบธุรกิจในรูปแบบไม่ยั่งยืน ตัวอย่างก็จะเป็นการเร่งขยายธุรกิจและธุรกรรมจนกระทบการดำเนินธุรกิจ และ กระทบต่อผู้ฝาก

2.กระตุ้นการแข่งขันที่ไม่เหมาะสมจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ตัวอย่างก็จะเป็นการปล่อยสินเชื่อง่าย เพื่อแยกลูกค้าแล้วจะส่งผลทำให้มีหนี้มากเกินไป

3.การเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม ตัวอย่างก็จะเป็นการกำหนดเงื่อนไขผูกมัดคู่ค้าทางธุรกิจให้ใช้บริการเฉพาะกับ Virtual Bank ตัวเอง

  • ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หลัง Virtual Bank เปิดให้บริการ

ทีนี้เรามาดูกันบ้างว่าเมื่อธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเปิดให้บริการในประเทศไทย จะเกิดผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง

ความสะดวกและการเข้าถึงบริการ

จากผลการสำรวจประชาชนในประเทศไทยในปี 2565 นั้น พบว่ามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 57.5 ล้านคน แบ่งเป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน 94.1% และโทรศัพท์มือถือระดับกลาง 6% เมื่อธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเปิดให้บริการในประเทศไทย แน่นอนว่าในเรื่องการเข้าถึงบริการนั้นสามารถเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลาจากอุปกรณ์มือถือส่วนบุคคล ทำให้ลดการเดินทางไปยังสาขาหรือจุดให้บริการต่างๆ ด้วยความสะดวกสบายนี้ย่อมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และหนุนธุรกิจรายย่อยให้เข้าถึงบริการทางการเงิน

เศรษฐกิจดีขึ้น เกิดธุรกิจใหม่ๆ

ส่วนบทบาทในเรื่องของธุรกิจนั้น เมื่อการใช้จ่ายไวขึ้นและสามารถทำได้ง่ายขึ้น อาจก่อให้ธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วนั้นสามารถบริการลูกค้าได้อย่างฉับไวและลดระยะเวลาในการให้บริการต่อคนหรือกลุ่มลูกค้า และสามารถสร้างจุดเด่นให้ธุรกิจและยังเพิ่มยอดขายได้อีกด้วย อีกทั้งการมาของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขานั้น อาจช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่นตลาดซื้อขายผลิตภัณฑ์ และ การค้าขายผลิตผลทางการเกษตรทางไกล รวมไปถึงการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ

บทบาทของสถาบันการเงินหรือธนาคารเดิม

แน่นอนว่าเมื่อธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเปิดให้บริการ สถาบันการเงิน หรือ ธนาคารเดิมจะมีบทบาทลดลง และต้องปรับตัว โดยอาจจะต้องลดจำนวนพนักงาน หรือสร้างโมเดลการให้บริการทางการเงินใหม่ๆที่ดึงดูดลูกค้า เพื่อความอยู่รอดของสถาบันการเงินเดิม แต่ในข้อเท็จจริงนั้นธนาคารแบบเดิมยังคงมีบทบาทสำคัญในด้านการให้บริการเงินสดเช่นการถอนเงินสดหรือฝากเงินตามจุดบริการต่างๆ เช่น เครื่อง ADM/ATM หรือการแลกเปลี่ยนเงินตรา ท้ายที่สุดอาจจะแปลงสภาพหรือขยายธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

  • Blockchain & Virtual Bank

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีอย่าง Blockchain หรือ AI นั้นจะเข้ามามีบทบาทกับธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่จะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยจุดเด่นของเทคโนโลยีเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ อย่าง Blockchain ที่สามารถตรวจสอบ, บันทึก และดำเนินธุกรรมแบบ P2P ได้อย่างรวดเร็ว และ เทคโนโลยีอัจฉริยะ AI (Artificial Intelligent) ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ที่จะช่วยจับคู่หรือแนะนำบริการที่เหมาะกับแต่ละผู้ใช้งาน

ถ้ามีเรื่องของ Blockchain เข้ามาเกี่ยวด้วย ไม่แน่ในอนาคตพวกเราอาจจะได้เห็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกสกุลเงินดิจิทัลประจำประเทศไทยก็ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการใช้งานต่างๆในโลกดิจิทัลดีมากยิ่งขึ้นไปอีก

ต่อไปนี้เป็นบริการที่ผู้เขียนคาดว่าอาจจะได้เห็นเมื่อธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเปิดบริการ

  1. Peer-to-Peer (P2P) lending ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้
  2. Crowdfunding ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่ตัวกลางช่วยจับคู่ผู้ระดมทุนและนักลงทุน
  3. Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง
  4. Online Marketplace พื้นที่ซื้อขายออนไลน์ที่สามารถแสดงยอดเงินในบัญชีและชำระเงินและภาษีได้ทันที
  • บทสรุป

แม้ว่าจะมีผู้สนใจลงทุนเปิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเป็นจำนวนมากหลายเจ้า แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. นั้นได้กำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เพื่อให้ได้ผู้ให้บริการที่เหมาะสม เช่น ระยะเริ่มต้นจะเปิดให้ขอใบอนุญาตได้ไม่เกิน 3 ราย อีกทั้งได้กำหนดเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 5,000 ล้านบาท ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ จะมารายเดียวหรือจับคู่กันมาก็ได้ หรือถ้าเป็นต่างชาติจะสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% และต้องจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย ส่วนความคืบหน้านั้นคาดว่าจะประกาศรายชื่อชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกภายในไตรมาสแรกของปี 2566 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในกลางปี 2568

อย่างไรก็ตามบทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียน ประกอบกับข้อมูลจากสื่อต่างๆ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อ Virtual Bank เปิดให้บริการในประเทศไทยจริงๆ นั้น จะสามารถพลิกโฉมการให้บริการทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่

จึงอยากจะให้ผู้อ่านอย่าลืม ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มด้วยตัวเองอีกที่ (DYOR)

,Jo & P

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image