ศัพท์เบื้องต้นวงการคริปโตเคอร์เรนซีประจำวันนี้ขอเสนอคำว่า ‘Smart Contract’ อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของวงการสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ถ้าไม่มีก็คงไม่ได้
บทความนี้จะพามาดูกันว่า Smart Contract คืออะไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร แล้วสำคัญอย่างกับบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนกรณีศึกษาที่นำ Smart Contract ไปใช้นั้นมีอยู่ในมิติไหนบ้าง
Smart Contract คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร?
Smart contract คือ สัญญาที่ดำเนินการด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ โดยดำเนินการขั้นตอนตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่ได้ระบุเอาไว้ในสัญญา ทั้งนี้ เงื่อนไขหรือข้อกำหนดของ Smart Contract มีลักษณะเป็น Programming Code เก็บอยู่ในบล็อกเชน
แนวคิดของ Smart Contract เกิดขึ้นเมื่อราวปี 1994 โดย Nick Szabo ได้นำเสนอแนวคิด Smart Contract ว่าเป็น Computerized Transaction Protocol ที่ใช้ดำเนินการตามเงื่อนไขของตัวสัญญาทางคอมพิวเตอร์ มีวัตถุประสงค์ไว้ใช้งานเหมือนกับการทำสัญญาทั่วไป เช่น การชำระเงิน การรักษาความลับ การบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น ที่สำคัญ Smart Contract เป็นระบบการทำสัญญาธุรกรรมที่ไม่มีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อลดความผิดพลาดของ Human Error และขจัดความคิดที่อิงความเชื่อมั่นต่อตัวกลางออกไป
การทำงานของ Smart Contract ที่น่าสนใจในโลกคริปโต
การทำงานเบื้องต้น คือ เมื่อคุณเขียนโค้ดโดยบอกว่า ‘ถ้าเกิด…แล้วจะเกิด…’ แล้วนำโค้ดไปใส่บนบล็อกเชน Smart Contract ก็จะพร้อมทำงาน
ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล มีหลายบล็อกเชนที่สนับสนุนการทำงานของ Smart Contract—ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ ‘Ethereum’ ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานของสัญญาอัจฉริยะโดยเฉพาะ โดย วิตาลิก บูเจริน (Vitalik Buterin) ผู้พัฒนา Ethereum บอกว่า บล็อกเชนไม่ใช่แค่ใช้โอนเงินหากันไปมา มันสามารถประมวลผลโค้ด บันทึกการเปลี่ยนแปลงทุกข้อมูลลงในนั้นได้ จึงสร้าง Ethereum ขึ้นมาเป็นบล็อกเชนตัวแรกที่มาพร้อมกับสามารถในการประมวลผลโค้ด และได้นิยาม Smart Contract ว่าคือการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์หรือเงินตราเข้าไปในตัวโปรแกรม และโปรแกรมนี้จะทำงานด้วยตัวของมัน ในจุดหนึ่งมันจะทำการเช็กเงื่อนไขว่า สินทรัพย์นี้ควรจะถูกส่งต่อไปที่ใคร หรือควรจะถูกโอนคืนกลับไปให้เจ้าของ
บนการทำงานของ Ethereum ผู้ใช้งานสามารถเขียน Smart Contract เชื่อมต่อกับอะไรก็ได้ โดยสัญญาจะทำงานเมื่อใส่เหรียญ Ethereum (ETH) เข้าไปในตัวสัญญานั้นๆ โดยระบุกฎระเบียบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเอาไว้ด้วย ซึ่งทำให้มีหลายบริการเกิดขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum นั่นเอง อย่างเรื่องการเทรดหรือประมูล NFT ก็คือหนึ่งในนั้น
หรือทางด้านเกม ‘Cryptokitties’ ก็เป็นเกมที่สร้างบนบล็อกเชน และใช้สัญญาอัจฉริยะในการบันทึกกระบวนการแลกเปลี่ยน ผสมพันธุ์ รับเลี้ยงแมวในเกม
นอกจากนี้ยังมีบล็อกเชนอื่นๆ ที่รองรับ Smart Contract อย่าง ‘NXT’ แต่เป็นสัญญาแบบสำเร็จรูป เขียนเองเพิ่มเติมไม่ได้
ข้อดีและข้อเสียของ Smart Contract
ข้อดีของ Smart Contract
- ความปลอดภัยสูง ข้อมูลของ Smart Contract นั้นจัดเก็บอยู่ในบล็อกเชนทำให้ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขหรือปลอมแปลงข้อมูลได้
- ทำธุรกรรมรวดเร็ว Smart Contract ดำเนินการด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพียงปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ของ Smart Contract
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย Smart Contract เข้ามาลดความสำคัญของตัวกลางออกไป ทำให้ผู้ใช้งานประหยัดค่าใช้จ่ายเดิมที่ต้องจ่ายให้กับตัวกลางเพื่อดำเนินงาน
ข้อเสียของ Smart Contract
- ข้อบกพร่องของ Programming Code ใน Smart Contract ยังพบข้อบกพร่องทางเทคโนโลยีใน Code ของ Smart Contract ส่งผลให้ทำธุรกรรมผิดพลาดได้บางครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้กลุ่มแฮกเกอร์นิยมทำการโจรกรรมบ่อยครั้ง
- ไม่มีข้อกฎหมายรองรับ เทคโนโลยี Smart Contract ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ใช้งานได้ไม่นาน ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ยังไม่มีกฎหมายหรือเกณฑ์ข้อบังคับของหน่วยงานภาครัฐรองรับการใช้งาน Smart Contract เมื่อเกิดกรณีผิดพลาดขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานโดยตรง
- ข้อจำกัดของการใช้งาน ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาคอมอย่าง Solidity ที่ไว้ใช้สำหรับเขียนข้อกำหนดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ลงในสัญญา หากเงื่อนไขการทำงานซับซ้อน อาจต้องจ้างนักพัฒนามาเขียน Code แทน
Smart Contract ปรับใช้กับอะไรได้บ้าง?
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นแล้วกัน ยกตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดของ Smart Contract นั่นก็คือ ‘ตู้กดของอัตโนมัติ’ (vending machine) เมื่อคุณใส่เงินเข้าไปตามจำนวนที่กำหนด ตู้ก็จะออกสินค้าที่เราเลือกให้โดยอัตโนมัติ ทอนเงินอัตโนมัติ แต่ถ้าเงินใส่ไปไม่พอ มันก็จะแจ้งให้เราใส่เงินเพิ่ม จนกระทั่งสินค้าไหลลงมาจากเครื่องเมื่อ ‘เงื่อนไข’ —ซึ่งก็คือคำสั่งและจำนวนเงิน—ใส่ลงไปครบ
หรือในชีวิตประจำวัน หากนาย B ซื้อรถจากนาย A ปกติเมื่อนาย B โอนเงินให้แล้ว นาย A จะต้องทำการตรวจสอบยอดโอนว่าเข้าจริงหรือไม่ ยอดครบไหม แต่หากมี Smart Contract เมื่อนาย B โอนเงินครบตามเงื่อนไข สัญญาจะดำเนินการอัตโนมัติ และโอนสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถยนต์ให้นาย B ทันที
ความสามารถของ Smart Contract เช่น การที่มันสามารถปรับใช้กับการทำงานโครงสร้างใหญ่ของสังคมอย่าง ‘การทำใบขับขี่’ ได้ด้วย คือ เมื่อต้องการต่อใบขับขี่ กรมขนส่งจะส่งข้อสอบมาให้ทำในออนไลน์ หลังจากทำเสร็จ สัญญาอัจฉริยะจะรับหน้าที่เช็กว่าผลสอบผ่านเกณฑ์หรือไม่ ถ้าผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ข้อมูลการสอบครั้งนี้ก็จะบันทึกไว้ จากนั้นผู้สอบก็โอนคริปโตฯ เป็นค่าเอกสาร เมื่อ Smart Contract ตรวจสอบว่า สอบผ่าน จ่ายเงินครบ ถือว่าบรรลุเงื่อนไขสัญญาที่ตั้งไว้ ก็จะทำการส่งใบขับขี่ให้ ซึ่งใบขับขี่ก็จะมาในรูปแบบดิจิทัลและถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชนเช่นกัน
แน่นอนว่าในอนาคต Smart Contract น่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ และเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้คนได้ไม่ยาก และช่วยลดการทำงานเอกสารของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามว่าหากเกิดการรันโค้ดผิดพลาด หรือโค้ดถูกทำลาย (ซึ่งมันใช้คำสั่งทำลายได้) เราจะฟ้องร้องใคร ฟ้องร้องกับบล็อกเชนได้หรือไม่ (ถ้าการเงินดั้งเดิมธุรกรรมผิดพลาดยังมีธนาคารแก้ปัญหา) ดังนั้นสัญญาอัจฉริยะจึงเป็นเทคโนโลยีที่ยังคงต้องถูกพัฒนาต่อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ที่มา : Zipmex , thematter.co
Leave feedback about this